หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง หวังพรรคการเมืองชูนโยบายแก้หนี้แบบตรงกลุ่มเป้าหมาย
ภาพรวมหนี้ครัวเรือนของไทยขณะนี้อยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของจีดีพี เกินระยะอันตรายของหนี้ครัวเรือนคือ 85% แล้ว ขณะที่ เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 80% ของจีดีพี
หนี้ในระบบเครดิตบูโรอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท ในจำนวน 32 ล้านคน และพบว่า 9.8 แสนล้านบาท “เป็นหนี้ที่เสีย”
บางคนโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภาคบริการต่างๆ ก่อนช่วงโควิด-19 ที่ภาคการท่องเที่ยวเติบโตลูกหนี้กลุ่มนี้อยู่ในระดับเกรดเอ แต่ ณ วันนี้ กลับติดกับดักหนี้เสีย คือกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดย มีอยู่ราว 3.1 ล้านคน มูลค่าหนี้กว่า 3.3 แสนล้านบาท
เข้าใจนโยบาย “พักหนี้” แต่ควรดูให้รอบด้าน
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ขยายความคำว่า “พักหนี้” หรือ “พักการชำระหนี้” คือ เมื่อหนีถึงกำหนดแต่ยังไม่ต้องจ่าย ก็ไม่ถือว่ามีความผิด แต่เมื่อพักแล้ว เจ้าหนี้จะจัดการกับก้อนหนี้อย่างไร ดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องวางมาตรการให้ชัดเจนและมีความประณีต หรือกรณีที่ แช่แข็งหนี้ โดยที่หยุดดอกเบี้ยไว้ แล้วในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากต้องคำนึงถึงฝั่งผู้ฝากเงินด้วย
กาง Big DATA เครดิตบูโร เกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอย ของคนไทย
จำนวนผู้ที่อยู่ในระบบเครดิตบูโรมีจำนวน 32 ล้านคน กับอีก 4 แสนบริษัท มูลค่าราว 7-8 ล้านล้านบาท คลอบคลุม 126 สถาบันการเงิน เช่าซื้อ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ ซึ่งพบว่า
- กลุ่มเจน z (อายุ 20-22 ปี) มียอดหนี้ 1.8 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสียแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท
- กลุ่มเจน X มียอดหนี้ 5.6 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียแล้ว 3.4 แสนล้านบาท
- กลุ่มเจน Y กู้ มียอดหนี้ 4.1 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียแล้ว 2.7 แสนล้านบาท
- กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ มียอดหนี้ 1.3 ล้านล้าน เป็นหนี้เสียแล้ว 9 หมื่นล้าน